ปัจจุบันทั้งในอเมริกา ยุโรปบางประเทศ เช่น อังกฤษ เยอรมนี เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ ออสเตรเลีย และในประเทศในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ มีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลด้านการกระตุ้นพฤติกรรม หรือ NUDGE UNITS เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินนโยบายสาธารณะโดยใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ในที่นี้ก็คือการผสมผสานระหว่างเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยา มาช่วยกระตุ้นเพื่อให้เปลี่ยนพฤติกรรมโดยที่ยังเคารพเสรีภาพในการตัดสินใจของบุคคลอยู่ โดยที่ไม่ได้มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำ
พฤติกรรมด้านการออมที่เห็นชัดและใช้กันมากก็คือ การตั้งค่าเริ่มต้นอัตโนมัติ (Default Option) โดยให้ตัดเงินเดือนไปออม หรือลงทุนทันทีเมื่อเงินเดือนออก แต่ถ้ารู้สึกว่าเงินที่เหลือไม่พอใช้จ่ายก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ (Opt-Out) คนโดยมากมักจะไม่มาเปลี่ยนและโดยมากมักจะใช้จ่ายให้พอกับตัวเงินที่ได้รับ ซึ่งในเวลาผ่านไปเงินออมหรือเงินลงทุนที่ถูกตัดออกไปออมหรือลงทุนก็เพิ่มมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
Gen-Y กับการออมเงินนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ทำให้รู้สึกว่าเป้าหมายทางการเงินทำได้จริง โดยเริ่มจากหลักการที่เรียกว่า Mental Accounting ที่ว่าเมื่อตั้งใจจะใช้เงินสำหรับเรื่องใด ก็จะเคร่งครัดในการกันเงินนั้นเพื่อใช้ตามความที่ตั้งใจ หากได้ตั้งเป้าหมายการออมที่ชัดเจนแล้ว ก็จะส่งผลให้มีโอกาสออมได้สำเร็จมากขึ้น
และต่อมาเมื่อมีเป้าหมายในการออมชัดเจนแล้ว ก็ใช้หลักการ Pennies-a-Day โดยแบ่งเงินเป็นหน่วยย่อยๆและทะยอยออมทีละน้อย จนเมื่อเวลาผ่านไปก็จะสะสมเงินออมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ Gen-Y ก็ต้องพยายามควบคุมตัวเองไม่ให้มีแนวโน้มใช้ชีวิตแบบ Yolo หรือ You Only Live Once ที่ใช้ชีวิตไปตามกระแสวัตถุนิยมจนใช้จ่ายเกินตัว โดยไม่คิดออมเงินให้มาสนใจเรื่องการบริหารจัดการเรื่องเงินเพื่ออนาคตทางการเงินที่มั่นคง
กองบรรณาธิการ : Money Kudasai