FINLIFE หรือ Financial Lifestyle คือ การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของคนยุคปัจจุบันในทางธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เช่น จ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ ชำระหนี้บัตรเครดิต ซื้อสินค้าออนไลน์ ฯ ผ่านทาง Mobile Banking หรือ E-Banking โดยเฉพาะ Generation Y หรือที่เราเรียกว่า Gen-Y ก็คือกลุ่มคนที่เติมโตมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการเงินที่ใช้อยู่ประจำ อย่างเช่น การโอนเงินผ่านทาง Mobile Banking บริการพร้อมเพย์ การใช้ E-Wallet ต่างๆบนแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ซึ่งกลุ่มคนที่เรียกว่า Gen Y นั้นคุ้นเคยกันเป็นส่วนใหญ่
มีการสำรวจความรู้ความเข้าใจพฤติกรรมของประชาชนต่อการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) โดยการสำรวจครั้งนี้จัดทำโดยหน่วยงานภาครัฐ สถาบัน และมหาวิทยาลัย รวบรวมข้อมูลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศครอบคลุมเขตเมืองพื้นที่และชนบท พบว่า พฤติกรรมการใช้ E-Payment ของคนไทยแบ่งออกเป็นเรื่องต่างๆได้ดังนี้
คนไทยส่วนมากยังไม่ทราบความแตกต่างระหว่างบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็ม คนไทยส่วนมากยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง E-Payment ค่อนข้างน้อย แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จักบัตรเอทีเอ็ม แต่สื่อการชำระเงินอื่น เช่น อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง โมบายล์แบงค์กิ้ง บัตรเครดิต บัตรเดบิต มีไม่ถึง 50% คนส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อแตกต่างระหว่างบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต ทำให้เป็นสาเหตุสำคัญที่ผู้ถือบัตรเดบิตไม่ได้ใช้บัตรเดบิตซื้อสินค้าตามร้านค้าต่างๆ นอกจากนั้นแล้วคนที่อาศัยในเขตเมืองรู้จักสื่อการชำระเงินหลากหลายมากกว่าเขตชนบท
กลุ่ม Gen-Y มีสื่อการชำระเงินหลากหลายประเภทกว่า Generation อื่นๆ กลุ่ม Gen-Y ต่างมีพฤติกรรมการใช้ E-Payment แตกต่างกันไป กลุ่ม Gen-Y ใช้สื่อการชำระเงินหลากหลายที่สุด เมื่อเทียบกับ Generation อื่น ทั้งนี้เป็นเพราะ Gen-Y เติบโตมาพร้อมกับความหน้าทางเทคโนโลยีและมีความคุ้มเคยสามารถทำความเข้าใจขั้นตอนในการบริการ E-Payment ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งอยู่ในช่วงวัยทำงาน มีรายได้ ส่งผลให้มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย
คนส่วนใหญ่ยังชินกับการใช้เงินสด แม้ว่ามีสื่อการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การสำรวจพบว่า 60% มีสื่อการชำระเงินอย่างน้อย 1 อย่าง แต่ส่วนมากนิยมใช้เงินสดในชีวิตประวัน สำหรับการใช้จ่ายที่มูลค่าไม่สูงนัก ด้วยเหตุเรื่องความสะดวกและความเคยชิน แต่ถ้าเป็นการชำระมูลค่าสูง คนส่วนใหญ่นิยมใช้ E-Payment ซึ่งการชำระบิลที่เป็นจำนวนเงินมาก การโอนเงิน ซึ่งรู้สึกปลอดภัยและสามารถตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมย้อนหลังได้
นอกจากนั้นพบว่าการใช้ E-Payment ของภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นปัจจัยที่สำคัญในการกระตุ้นการใช้ภาคประชาชน เห็นได้จาก 45% ของกลุ่มตัวอย่าง มีการรับโอนเงินผ่านช่องทาง E-Payment ซึ่งโดยมากเป็นการรับเงินสวัสดิการจากรัฐ และเงินเดือนค่าจ้าง สำหรับบริการพร้อมเพย์เป็นบริการ E-Payment รูปแบบใหม่ที่เริ่มเปิดบริการช่วงต้นปีพุทธศักราช 2560 พบว่า 21% ของกลุ่มตัวอย่างรู้จักและเข้าใจบริการพร้อมเพย์ โดยกว่าครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ได้ลงทะเบียนผูกบัญชีและได้เคยใช้บริการพร้อมเพย์ โดยเฉพาะบริการรับคืนภาษี
รายได้ ความจำเป็นในการใช้จ่ายของแต่ละ Generation และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อการชำระเงินเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ E-Payment
รายได้ส่งผลต่อกำลังซื้อของบุคคลและความจำเป็นในการใช้จ่าย เพิ่มโอกาสในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คนที่มีรายได้สูงและมีความจำเป็นในการจับจ่ายใช้สอยสูงมีแนวโน้มจะใช้ E-Payment สูงตาม
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีด้วย เห็นได้จากกลุ่มประชากรที่เติบโตมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการเงินอย่างกลุ่ม Gen-Y มีการใช้ E-Payment สูงกว่ากลุ่มประชากรในรุ่นการเกิดอื่นๆ ขณะเดียวกัน ปัจจัยด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อการชำระเงินก็มีผลต่อพฤติกรรมการใช้ E-Payment เนื่องจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ E-Payment มากขึ้น
เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ E-Payment ให้มากขึ้นครอบคลุมคนทุกกลุ่มทุก Generation ภาครัฐต้องส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ E-Payment พร้อมทั้งการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าที่ถูกต้องในกลุ่มประชาชน เพื่อผลักดันทุกกลุ่ม Generation ให้ลองใช้ ซึ่งทำให้เกิดประสบการณ์การใช้ E-Payment ที่ดี และที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ E-Payment แทนการใช้เงินสดในอนาคตต่อไป
กองบรรณาธิการ : Money Kudasai